1/09/2557

ราชบัณฑิตยฯ พิมพ์ศัพท์ใหม่ กับการเอามาใช้ในวรรณกรรม

 ศัพท์ที่ว่านั้นก็เช่น "เกรียน" "ขั้นเทพ" "กดไลค์" "มาคุ" "สุดซอย" ฯลฯ ถ้าใครอยู่กับอินเทอร์เน็ตบ่อยๆ คงพอเข้าใจความหมายของคำพวกนี้และที่มา แต่ถ้าใครไม่รู้ก็ลองซื้อมาอ่านหรือคลิกที่รูปเพื่ออ่านเนื้อหาได้เลย (ตอนนี้มี 3 เล่ม เล่มที่ 4 กำลังจะพิมพ์)

ราชบัณฑิตยฯ พิมพ์ศัพท์ใหม่ กับการเอามาใช้ในวรรณกรรม      ราชบัณฑิตยฯ พิมพ์ศัพท์ใหม่ กับการเอามาใช้ในวรรณกรรม      ราชบัณฑิตยฯ พิมพ์ศัพท์ใหม่ กับการเอามาใช้ในวรรณกรรม
 
            พจนานุกรมคำใหม่เขารวมคำศัพท์แบบไหนไว้บ้าง
 
  1. คำที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์บางอย่างในสังคม เช่น "กระชับพื้นที่" คำนี้ดังมากๆ ช่วงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองปี 2552 เป็นคำที่อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ใช้เพื่ออธิบายการวางกำลังเจ้าหน้าที่ล้อมผู้ชุมนุมเพื่อไม่ให้ขยายการชุมนุมเป็นวงกว้างออกไป (งดคอมเม้นต์การเมืองนะเออ นี่แค่ยกตัวอย่าง)
     
  2. คำที่มีความหมายเพิ่มเติมเมื่อเวลาผ่านไป เช่น "ยกเครื่อง" ในอดีตมันแค่ใช้กับการซ่อมรถ แต่ปัจจุบันเราใช้กับการรื้ออะไรแล้วเปลี่ยนใหม่หมด เช่น ศัลยกรรม หรือปฏิรูปองค์กรแบบยกเครื่อง

  3. คำแสลง หรือสำนวนติดปาก เช่น "ชิว" คำนี้มาจาก chill-out ในภาษาอังกฤษที่แปลว่าทำตัวสบายๆ คำนี้แม้แต่ในภาษาอังกฤษก็เป็นภาษาพูด เอาไปเขียนรายงานไม่ได้นะเออ

  4. และคำเก็บตกอื่นๆ ที่เขาอาจจะไม่ได้ใส่ในพจนานุกรมฉบับก่อนๆ หรือคำที่ไม่มีตัวอย่างให้

           ทีนี้มาเข้าเรื่องของเราดีกว่า ในฐานะนักเขียน "ศัพท์ใหม่" พวกนี้สำคัญกับเราอย่างไร

           จริงๆ แล้วงานเขียนก็ถือเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง และงานศิลปะมันไม่มีขอบเขตหรือข้อกำหนดใดๆ เราอยากจะใส่อะไรลงไปในงานเขียนก็ได้ (แต่ได้ตีพิมพ์หรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง) ถ้าน้องๆ อยากจะใช้ emoticon ในนิยายของตัวเอง ในแง่ศิลปะมันก็ไม่ได้หมายความว่างานนั้นไม่ดี แต่งานที่ออกสู่สาธารณะมันจะโดน "คนในสังคม" ประเมินค่าให้เป็นเรื่องธรรมดา ถ้านักอ่านส่วนใหญ่ไม่ชอบ emoticon เพราะเห็นว่ามันไม่มีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ใดๆ งานเราก็จะไม่ได้คะแนนจากสังคมไปโดยปริยาย

           เช่นเดียวกันกับศัพท์ใหม่เหล่านี้ การที่ราชบัณฑิตยสถานทำพจนานุกรมศัพท์พวกนี้ออกมาไม่ได้หมายความว่าเราเอาศัพท์พวกนี้ไปเขียนนิยายได้แล้วนะ แต่มันเป็นแค่การ "รวบรวมศัพท์ใหม่" เพื่อใช้อ้างอิงความหมายเท่านั้น หลายคำในนั้นเป็นภาษาแชท หรือภาษาแสลงที่ไม่ได้รู้ความหมายไปทุกคนด้วยซ้ำ

           ถามว่าศัพท์พวกนี้ใช้ในนิยายได้ไหม? คำตอบคือ...
 
  • ได้ ถ้าเราไม่จริงจังกับการมีผลงานตีพิมพ์
  • ได้ ถ้าเราไม่คาดหวังว่าทุกคนต้องอ่านเรื่องของเรา
  • ได้ ถ้าเราทนรับกระแสกดดันจากคนที่ผ่านมาอ่านเรื่องของเราได้
          
           เพราะการเขียนให้ตัวละครพูดภาษาแชทมากเกินไป เช่น
 

"คิดถึงจุงเบยนะคริคริ" เธอกล่าวเสียงหวาน
"หลับฝันดีนะครัช" เขากล่าวตอบพร้อมรอยยิ้ม

          
           ประการแรกจะทำให้คนอ่านที่ไม่รู้ความหมายของคำพวกนี้หรือไม่รู้ที่มาเข้าใจว่าเราพิมพ์ผิด หรือเข้าใจความหมายผิด เช่น 'ครัช' เป็นชื่อนางเอกหรือเปล่า 'จุงเบย' เป็นชื่อพระเอกแสดงว่าพระเอกเป็นคนเกาหลีสินะ

           ประการต่อมา สำนักพิมพ์ทั้งหลายยังยึดเกณฑ์การใช้ภาษามาตรฐานในการพิจารณาผลงานตีพิมพ์อยู่ คำว่า "มาตรฐาน" ก็คือ "ขายได้" งานเขียนแบบนี้อาจขายได้กับวัยรุ่นเฉพาะกลุ่มมากๆ และบางทีสำนักพิมพ์อาจโดนตั้งคำถามถึงการผลิตงานที่ไม่ถึงเกณฑ์ "มาตรฐาน" แบบนี้ออกมา

           ประการสุดท้ายก็คือคนอ่านอย่างเราๆ นี่แหละ เวลาเราเลือกซื้อหนังสือสักเรื่อง นอกจากพล็อตเรื่องที่นักเขียนบรรจงปรุงแต่งออกมา เราก็อยากจะอ่านสำนวนภาษาที่เราไม่รู้สึกว่า "พิมพ์ออกมาง่ายๆ" แต่เราอยากเห็นอะไรที่ผ่านการกลั่นกรองแล้วล้านรอบ การเลือกใช้คำที่นักเขียนเท่านั้นถึงจะทำได้ ให้คุ้มกับเงินหลายร้อยบาทที่เราควักออกมาจากกระเป๋าแฟบๆ สักหน่อย

           ศัพท์ใหม่พวกนี้ โดยเฉพาะที่เป็นแสลง เช่น จุงเบย ชิมิ ครัช อาจสร้างความหงุดหงิดที่ง่ามนิ้วให้กับคนอ่าน และทำให้พวกเขามองคนใช้ในแง่ลบได้ (เคยเป็นประเด็นมาแล้วแม้แต่ในกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเอง)

           ดังนั้นถ้าเราอยากให้งานเราเป็นงานที่ใครก็อ่านได้ จะนักธุรกิจหรือลุงขายข้าวมันไก่ก็อ่านเข้าใจ ควรเลือกใช้คำที่เป็นกลางที่สุด อย่าตามกระแสมากเกินไป ยิ่งหลายคำอาจมาแล้วไป ฮิตได้แป๊บเดียวก็เลิกฮิต ถึงตอนนั้นนิยายเราก็กลายเป็นของล้าสมัยทันทีเพราะใช้คำที่คนเขาเลิกใช้ไปแล้ว

           อย่างไรก็ดี...ถ้าเราอยากจะนำเสนอสังคมวัยรุ่นในปัจจุบันที่มีการใช้ศัพท์ใหม่ๆ ทำให้มันเป็นประเด็นของนิยายขึ้นมา การใช้คำพวกนี้ก็คงเลี่ยงไม่ได้ แต่คนอ่านเขาก็จะรู้ว่าเราใช้ภาษาแชทเพื่อเปรียบเทียบ เพื่อเป็นประเด็น ไม่ได้ตั้งใจจะใช้ภาษานี้ในนิยายจริงๆ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น